มังกร มีตัวตนอยู่ในเรื่องเล่าและนิทานพื้นบ้านในหลาย ๆ ประเทศ พวกมันมีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกันตามที่ต่าง ๆ แม้จะมีคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับลักษณะของพวกมัน ถึงกระนั้นเรากลับพบว่า มันเป็นเพียงแค่ตำนาน

มังกร เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในวรรณกรรมกลายเรื่องของจีนและตะวันตก อย่างไรก็ตาม ลักษณะของมังกรจะแตกต่างกันไปตามแต่ละที่ เช่น มังกรจีน ถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์เลื้อยคลาน มีลำตัวยาวคล้ายงู ไม่มีปีก แต่สามารถบินได้ ในขณะที่มังกรยุโรปมีขาและปีก สามารถพ่นไฟได้

จากคำบอกเล่ารูปพรรณสัณฐานของพวกมันผ่านตำนาน ทำให้เราทราบถึงความเชื่อและความแตกต่างของมังกรแต่ละถิ่น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ทุกเรื่องเล่าเกี่ยวกับมังกรมีจุดร่วมที่กล่าวไว้ว่า มังกรเป็นสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โต มีพละกำลังมหาศาล และบินได้


Saint George and the Dragon, Paolo Uccello 1456
ที่มา Wikipedia


โครงสร้างของมังกรและคำอธิบายจากวิทยาศาสตร์

Henry Gee นักบรรพชีวินวิทยาผู้หลงใหลในมังกรได้ทำการศึกษาวิจัยโครงสร้างต่าง ๆ และใช้วิทยาศาสตร์อธิบายลักษณะของมังกร ดังนั้

  • ลมหายใจเพลิง
    มังกรพิเศษบางชนิดสามารถพ่นไฟออกมาจากปากได้ ลักษณะอันน่าทึ่งนี้มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รับรองอยู่ นักวิทยาศาสตร์ได้ยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในโลกจริงที่สามารถพ่นสารพิษคล้ายการพ่นไฟของมังกรได้ นั่นคือ แมลงตด (Bombardier bettles)


Bombardier beetles
ที่มา https://bugguide.net/node/view/197751

แมลงตด (bombardier beetles) มีกลไกในการป้องกันตัวด้วยการปล่อยสารพิษประเภทควิโนนออกมาเป็นละอองเหมือนหมอกทางก้นของมัน ซึ่งมันสามารถผลิตสารพิษจากสาร 2 ชนิด คือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และไฮโดรควิโนน เมื่อถูกรบกวน แมลงตดจะเปิดช่องให้สารทั้ง 2 ชนิดมาผสมกับน้ำในช่องที่ 3 ที่มีเอมไซม์อยู่ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีและความร้อน ส่งผลให้เกิดแก๊สและแรงดันในช่องท้องพ่นละอองสารพิษออกมา

จากกลไกการทำงานการพ่นพิษของแมลงตด สามารถนำมาอ้างอิงการพ่นไฟของมังกรได้ Gee กล่าวว่า มังการอาจมีต่อมพิษซึ่งเต็มไปด้วยก๊าซที่สามารถจุดไฟได้ เมื่อถูกปล่อยออกมาด้วยแรงเสียดทานเพียงเล็กน้อยก็อาจเกิดเพลิงไฟได้ไม่ยาก สารเคมีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ ไดเอทิลอีเทอร์ ที่เป็นตัวทำละลายสารอินทรีย์ ซึ่งการทพเอทานอลแบบ 'ทำให้แห้ง' ด้วยกรดซัลฟิวริกนั้นง่ายมาก

มังกรสังเคราะห์ไดเอทิลอีเทอร์ทางชีวภาพได้อย่างไร

"ยีสต์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ผลิตเอทานอลเป็นของเสีย มีแบคทีเรียที่ขับกรดกำมะถันออกมา ซึ่งมังกรอาจมีจุลินทรีย์ที่สร้างไดเอทิลอีเทอร์อยู่ในตัวของมัน หากจุลินทรีย์สร้างไอจำนวนมาก ไดเอทิลอีเทอร์เพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดเปลวไฟปริมาณมาก และเนื่องจากมันไม่ผสมกับน้ำ ไฟของอีเทอร์จึงไม่ดับอย่างรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดการทำลายล้างแบบมังกรสม็อกในตำนานได้" Gee กล่าว




Smaug dragon, The Hobbit
ที่มา https://www.cbr.com/smaug-eating-explained-the-hobbit/


  • การบิน
    ในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ เป็นไปได้ยากที่มังกรจะมีความสามารถในการบิน ตามตำนานกล่าวว่า ขนาดตัวของมังกรมีความใหญ่มาก หากอ้างอิงจากสัตว์(ที่เคย)มีอยู่ในโลกความเป็นจริง ก็คงไม่พ้น "เทอร์โรซอร์" สัตว์บินได้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เทอร์โรซอร์มีปีกที่มีอัตราส่วนความกว้างยาวและแคบทำให้ความคล่องแคล่วลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับนกที่มีขนาด ดังนั้น มังกรที่มีขนาดใหญ่อาจมีการเคลื่อนทีี่ที่คล้ายกับนกแรพเตอร์มากกว่า ด้วยการก้มหรือดำดิ่งอย่างแม่นยำ และอาจมีโครงสร้างกระดูกที่เป็นโพรงโปร่งเชื่อมต่อกับถุงลมแบบนก เพื่อให้น้ำหนักเบาพอที่จะบินไปบนท้องฟ้าได้


Raptor
ที่มา https://www.sci.news/paleontology/overoraptor-chimentoi-08517.html


แล้วมังกรจีนที่ไม่มีปีกบินได้อย่างไร? ตามตำนานจีน มังกรสามารถบินได้ด้วยการเดินบนเมฆ แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าเมฆเป็นเพียงกลุ่มไอน้ำรวมตัวกัน การสัมผัสเมฆนั้นจึงเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายการบินที่แท้จริงของมังกรจีนได้ หากอ้างอิงจากการลอยของลูกโป่งจะพบว่า ข้างในลูกโป่งมีแก๊สไฮโดรเจน ซึ่งมีน้ำหนักเบาทำให้ลูกโป่งสามารถลอยได้นั่นเอง ด้วยการหมักอาหารผ่านแบคทีเรียในลำไส้ ก็จะสามารถผลิตไฮโดรเจนออกมาได้ แต่นั่นหมายความว่า ลำตัวของมังกรจะกลายเป็นลำไส้ ในขณะที่ปากของมันเป็นทวารหนัก แม้จะสามารถพ่นไฟและบินได้ก็จริง แต่ถ้าหากใครรู้ความจริงนี่เข้า สิ่งที่เรียกว่ามังกรอาจหมดน่าเกรงขามไปในทันที


Chinese dragon art, Chen Rong
ที่มา https://www.chinaartlover.com/overview-of-chinese-dragon-art

ในโลกความเป็นจริง ก็มีสิ่งมีสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีปีกแต่บินได้อยู่ นั่นคือ "งูบิน"

งูบินใช้การร่อนบนอากาศ โดยใช้พลังกล้ามเนื้ออันมหาศาลในการออกแรง ทั้งนี้ งูบินมีลำตัวที่ยาวแบน ซึ่งเหมาะสมแก่การร่อนบนอากาศ มันจะเปิดกระดูกซี่โครงออก และใช้ด้านที่เรียบทำให้เกิดกำลังลอยขึ้นสู่อากาศ ทำให้สามารถบินได้



งูบิน
ที่มา https://nypost.com/2020/06/30/mystery-of-how-flying-snakes-move-is-solved-by-scientists/

    
    มังกรเป็นสิ่งมีชีวิตในเทพนิยายที่น่าทึ่งและน่าเกรงขาม แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มังกรไม่มีตัวตนอยู่จริงในโลกนี้ แต่มันก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมาจนถึงทุกวันนี้ การได้ศึกษาโครงสร้างของมังกรผ่านวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นถึงจินตนาการอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นการพิสูน์ว่า จินตนาการนั้นอยู่บนพื้นฐานความเป็นวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกัน วิทยาศาสตร์ก็เกิดจากจินตนาการที่ผ่านการพิสูน์แล้วนั่นเอง


แหล่งอ้างอิง
https://www.discovermagazine.com/planet-earth/the-science-behind-mythical-dragons